นี่คือโบราณสถานที่สร้างความแปลกใจให้กับนักท่องเที่ยวและนักประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก เพราะสิ่งปลูกสร้างที่พบมีความยิ่งใหญ่และงดงาม จนทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าคนในยุคโบราณสร้างสิ่งปลูกสร้างเช่นนี้ได้อย่างไร
เรากำลังพูดถึง ”วัดไคลาซา” วัดที่ถูกสร้างใจกลางถ้ำเอลโลรา ที่รัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย วัดไคลาซาแห่งนี้สร้างด้วยหินแกะสลักมีอายุนับพันปี
โดยสร้างเพื่อจำลองวิหารแห่งเทพศิวะบนเขาไกรลาส หนึ่งเทพเจ้าองค์สำคัญตามความเชื่อของชาวฮินดูโบราณ จากภาพที่่เห็นเชื่อกันว่าเป็นเพียงแค่บางส่วนของวัดไคลาซา ซึ่งนักโบราณคดีกล่าวว่าพึ่งขุดสำรวจถ้ำแห่งนี้ไปได้เพียง 16 จากทั้งหมด 34 ถ้ำ
นักโบราณคดีกล่าวว่า วัดดังกล่าวถูกสร้างขึ้นจากการแกะสลักแนวโขดหินโดยรอบจากเบื้องบนสู่ด้านล่าง และภายในเต็มไปด้วยรูปแกะสลักสุดวิจิตรและงดงาม ยังไม่รวมถึงห้องหับที่ถูกออกแบบมาอย่างดี
จนทำให้นักสำรวจในยุคปัจจุบันต้องขมวดคิ้วด้วยความสงสัยว่าคนในยุคก่อนสามารถสร้างและออกแบบสิ่งปลูกสร้างสุดยิ่งใหญ่เช่นนี้ได้อย่างไร
นักประวัติศาสตร์อินเดีย ”เอ็ม.เค.ธาวาลิกา” ระบุว่าวัดไคลาซาไม่ได้ถูกสร้างในครั้งเดียว แต่มันค่อย ๆ ถูกต่อเติมหลาย ๆ ครั้ง กินเวลานานหลายปี โดยระบุผนังด้านตะวันตกมีภาษาสันสกฤตจารึกอยู่
น่าเสียดายที่มันได้รับความเสียหายจากสภาพลมฟ้าอากาศ เชื่อว่าข้อความดังกล่าวอาจเป็นรายละเอียดการลำดับวงศ์ตระกูลของราชวงศ์รัชตคุต ที่เคยรุ่งเรืองเมื่อพันกว่าปีที่แล้ว
…..คำถามคือ คนยุคนั้นใช้เพียงค้อนและสิ่วสร้างสถานที่มหัศจรรย์เช่นนี้เท่านั้นหรือ?